ปัจจุบันประเทศไทยเผชิญปัญหามลภาวะทางอากาศที่รุนแรงมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในเมืองหลวงและพื้นที่หัวเมืองภาคเหนือ เราจะได้ยินข่าวสารภัยผลกระทบสุขภาพจากมลภาวะทางอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่น PM2.5 เป็นประจำทุกปี ซึ่งหน่วยงานภาครัฐและภาควิชาการมีความพยายามศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ถึงแม้ว่าหน่วยงานภาครัฐได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติก็ตาม แต่ปัญหาก็ไม่ได้บรรเทาลง จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการหาแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาในระยะยาว
PM2.5 คืออะไร – PM ย่อมาจาก Particulate Matters ดังนั้น PM2.5 ก็คือฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กมาก โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมโครเมตร หรือหากเปรียบเทียบกับขนาดเส้นผมของเรา ก็ประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผม ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าและขนจมูกของคนเราก็ไม่สามารถกรองฝุ่นนี้ได้ ถ้ามีฝุ่น PM2.5 ในอากาศปริมาณสูงมาก จะมีลักษณะคล้ายกับมีหมอกควัน ฝุ่น PM2.5 สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ และซึมเข้าสู่กระแสเลือด นอกจากนี้ ตัวฝุ่นเองยังเป็นพาหะนำสารมลพิษอื่นเข้ามาด้วย เช่น โลหะหนัก สารก่อมะเร็ง เป็นต้น
ผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 สำหรับผู้ที่ร่างกายแข็งแรงเมื่อได้รับฝุ่น PM2.5 อาจจะไม่มีผลกระทบในระยะแรก แต่ถ้าได้รับสัมผัสเป็นระยะเวลานาน หรือมีการสะสมในร่างกาย ก็จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพในภายหลังได้ แต่สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว จะได้รับผลกระทบมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ผลกระทบต่อสุขภาพสำคัญ ได้แก่ การก่อให้เกิดอาการไอ จาม หรือภูมิแพ้ ส่วนผู้ที่เป็นภูมิแพ้ฝุ่น จะถูกกระตุ้นให้เกิดอาการรุนแรงมากขึ้น การก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหลอดเลือดและหัวใจเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรัง หรือมะเร็งปอด นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดผลกระทบทางผิวหนัง เช่น ผื่นผิวหนังอักเสบ ระคายเคืองผิว โรคภูมิแพ้ผิวหนัง กระตุ้นการเกิดอนุมูลอิสระที่จะทำลายผิว เป็นต้น (กระทรวงสาธารณสุข, 2562)
แนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศล้วนแล้วเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เช่น การภาวนาให้ฝนตก การรอให้ลมเปลี่ยนทิศ การฉีดน้ำขึ้นไปในอากาศ การรณรงค์ให้ประชาชนมีความตระหนักรู้และป้องกันตนเองโดยการใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละออง เป็นต้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการแก้ไขปัญหาควรแก้ที่ต้นเหตุ โดยต้นเหตุสำคัญของฝุ่น PM2.5 ในเมืองใหญ่นั้น มาจากการใช้รถยนต์ (การเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์สันดาปภายใน) การลักลอบเผาขยะ การเผาไหม้เชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการก่อสร้างต่างๆ ซึ่งส่งผลให้คุณภาพอากาศแย่ลง
เอกสารอ้างอิง
กระทรวงสาธารณสุข (2562) คู่มือการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ปี 2563, กระทรวงสาธารณสุข, นนทบุรี.
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ โดยดาวน์โหลดเอกสารทางด้านล่าง:
การอบรมเชิงปฏิบัติการ “การคาดการณ์ค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency) และการคาดการณ์ค่า Factor เป้าหมายในขอบเขตการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)” ภายใต้โครงการ “การประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency) เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ”
การอบรมเชิงปฏิบัติการ “การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization) และการคำนวณค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)” ภายใต้โครงการ “การประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency) เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ”
การประชุมกลุ่มย่อยการประเมินการหมุนเวียนทรัพยากรของกลุ่มเกษตรและอาหาร ภายใต้โครงการ “การพัฒนาชุดข้อมูลและค่าการหมุนเวียนของกลุ่มอาหารและที่อยู่อาศัย เพื่อบูรณาการแพลตฟอร์มวิถีชีวิตตามแนวเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย”
Copyright © 2019 สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทย.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ