ตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Index & Dashboard)

อย่างไรก็ตาม การที่จะได้มาซึ่งข้อมูลที่ครอบคลุมกรอบของตัวชี้วัดทั้ง 231 ตัวตามเป้าหมายของ SDGs อาจจะต้องใช้เวลาหลายปีในการเก็บข้อมูล ในระหว่างนี้จึงจำเป็นต้องมีมาตรการชั่วคราวเพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกให้สามารถดำเนินการตามเป้าหมายและสามารถจัดลำดับความสำคัญสำหรับการดำเนินการในช่วงต้นได้ทางเครือข่ายทางออกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Solutions Network: SDSN [1]) ร่วมกับ มูลนิธิ Betelsmann (The Betelsman Stiftung [2]) จึงได้จัดทำ SDG Index & Dashboard หรือ Sustainable Development Report ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ประเทศต่าง ๆ สามารถดำเนินการตามเป้าหมายของ SDGs ได้สำเร็จ ซึ่งรายงานครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 2016 โดยตัวชี้วัดที่พัฒนาขึ้นจาก SDSN จะมีความแตกต่างกับตัวชี้วัดของ IAEG-SDGs และไม่ใช่ตัวชี้วัดอย่างเป็นทางการที่รับรองโดยองค์กรสหประชาชาติ แต่สามารถช่วยสนับสนุนกระบวนการอย่างเป็นทางการของตัวชี้วัดตามเป้าหมาย SDGs ได้ [3]

                    Sustainable Development Solutions Network (SDSN)

SDSN ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2012 โดยเลขาธิการสหประชาชาติ มีการรวบรวมความเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับสากลเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาเชิงปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และข้อตกตลง Paris Climate Agreement

                               The Bertelsmann Stiftung

มูลนิธิ Bertelsmann ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1977 โดยนาย Reinhard Mohn เป็นมูลนิธิที่ไม่มุ่งหวังผลกำไร ปัจจุบันมูลนิธิมีโครงการประมาณ 70 โครงการ โดยแต่ละโครงการล้วนเป็นโครงการที่ตอบสนองต่อความท้าทายของสังคมและมีส่วนช่วยให้สังคมมีความเป็นอยู่ที่ดี

SDG Indicator[4]

ในปี 2020 SDG indicator ใน SDSN มีตัวชี้วัดทั้งหมด 115 ตัว โดยที่เป็นตัวชี้วัดระดับโลก 85 ตัวชี้วัด และตัวชี้วัดเฉพาะสำหรับประเทศ OECD 30 ตัวชี้วัด ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมจากปี 2019 ให้ครอบคลุม 166 ประเทศ จากประเทศสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศ โดยมีประเทศเพิ่มเติม 4 ประเทศ คือ บาร์เบโดส บรูไนดารุสซาลาม โซมาเลีย และซูดานใต้ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกและมีข้อมูลสำหรับการประเมินผลครอบคลุมประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงวิธีการประเมินเพื่อทำให้เป็นมาตรฐานและให้ครอบคลุมทั้ง 193 ประเทศ ทำให้ลำดับในปีนี้ไม่สามารถเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาได้ และการเปลี่ยนแปลงในอันดับจึงไม่ได้หมายความว่าการตอบสนองต่อเป้าหมายของแต่ละประเทศจะเปลี่ยนแปลงไป โดยเกณฑ์ที่ใช้ในการคัดเลือกตัวชี้วัดพิจารณาจาก 5 ประเด็นดังนี้

  1. สามารถใช้เปรียบเทียบได้ในระดับสากล
  2. มีความถูกต้องและมีความน่าเชื่อทางสถิติ
  3. ทันต่อเหตุการณ์และสามารถเผยแพร่ได้ในระยะเวลาที่เหมาะสม
  4. คุณภาพของข้อมูล ข้อมูลที่ใช้ต้องมาจากแหล่งข้อมูลระดับชาติหรือนานาชาติที่เป็นทางการ (เช่นสำนักงานสถิติแห่งชาติหรือองค์กรระหว่างประเทศ) หรือแหล่งข้อมูลที่มีชื่อเสียง
  5. ข้อมูลต้องมีความครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 80 ของประเทศสมาชิกสหประชาชาติที่มีประชากรมากกว่า 1 ล้านคน

แหล่งข้อมูลสำหรับการประเมินตัวชี้วัด[5]

ข้อมูลที่ใช้ในการประเมินมาจากการผสมผสานของแหล่งข้อมูลที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยข้อมูลทางการส่วนใหญ่จะถูกรวบรวมจากทางภาครัฐและจากองค์ระหว่างประเทศหรือหน่วยงานต่างๆ ที่มีวิธีการรวบรวมข้อมูลที่น่าเชื่อถือ มีกระบวนการตรวจสอบบและเปรียบเทียบผลลัพธ์ได้ เช่น World Bank, OECD, WHO, FAO, ILO, UNICEF และอื่นๆ และข้อมูลที่ไม่เป็นทางการจะถูกรวบรวมโดยสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย องค์กรพัฒนาภาคเอกชนต่างๆ ได้แก่ การสำรวจครัวเรือน (Gallup World Poll) องค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่าย (Oxfam, Tax Justice Network และอื่น ๆ ) และวารสารที่ผ่านการตรวจสอบโดย peer-review โดยสัดส่วนของแหล่งข้อมูลแสดงดังรูปที่ 1

 

รูปที่ 1 สัดส่วนของแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการประเมิน[6]

ความพร้อมของข้อมูล

หากพิจารณาความพร้อมของข้อมูลพบว่า ข้อมูลที่ใช้ในการประเมินในแต่ละเป้าประสงค์มีความแตกต่างกัน ซึ่งสามารถสรุปได้ดังรูปที่ 2 โดยความพร้อมใช้งานของข้อมูลทั่วโลก (แหล่งข้อมูลที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ) แสดงในหน่วยของ % และปีที่อ้างอิงโดยเฉลี่ย (ปี ค.ศ.)

รูปที่ 2 ความพร้อมของข้อมูลที่ใช้ในการประเมิน[7]

การแสดงผล SDG Index & Dashboard

  • SDG Index

SDG Index ประเมินในรูปของร้อยละ ซึ่งหมายถึงระยะทางที่บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมาย โดยผลลัพธ์อยู่ระหว่าง 0-100 โดยที่ 0 หมายถึง ระยะทางที่ไกลจากเป้าหมายมากที่สุด และ 100 หมายถึง ระยะทางที่ถึงเป้าหมายแล้ว โดยในการประเมินคะแนนของแต่ละเป้าหมายนั้นจะต้องมีการกำหนดขอบเขตบนและล่างสำหรับตัวชี้วัดแต่ละตัว และทำการปรับค่าให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน (Normalization) การปรับขนาดทั้งหมดจะแสดงตัวแปรจากน้อยไปมากเพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสารในวงกว้างและสามารถเปรียบเทียบตัวชี้วัดได้ทุกตัว จากนั้นจึงทำการถ่วงน้ำหนักของตัวชี้วัด โดยให้ทุกตัวชี้วัดมีการถ่วงน้ำหนักเท่ากัน (equal weight) และรวมคะแนนของทุกเป้าหมายไว้ด้วยกัน หรือเรียกว่า ดัชนีโดยรวม โดยอาศัยหลักการทางสถิติ

  • SDG Dashboard

SDG Dashboard ใช้สีในการแสดงผล โดยที่สีเขียว หมายถึง มีโอกาสสำเร็จมาก รองลงมาคือ สีเหลือง ส้ม และ แดง หมายถึงมีโอกาสสำเร็จน้อยที่สุด นอกจากนี้มีการใช้ลูกศรเพื่อสื่อสารในเรื่องแนวโน้มการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมาย

สำหรับผลการดำเนินการของประเทศไทยในปี 2020 อยู่ในลำดับที่ 41 จากการประเมินประเทศที่มีข้อมูลทั้งหมด 166 ประเทศ และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน โดยได้คะแนนรวมทั้งหมดร้อยละ 74.5 ขณะที่ 3 ประเทศที่มีคะแนนสูงที่สุด ยังคงเป็น สวีเดน เดนมาร์ก และฟินแลนด์ โดยสวีเดน มีคะแนนสูงถึงร้อยละ 84.7 แสดงให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย เมื่อพิจารณารายละเอียดตามเป้าหมายการดำเนินการของประเทศไทยพบว่า ประเทศไทยสามาถบรรลุเป้าหมายได้แล้ว 1 เป้าหมาย คือ SDG1 ขจัดความยากจน (No Poverty) และมีประสิทธิภาพในการดำเนินการเป้าหมายที่ 2 ขจัดความหิวโหย, 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน และ 10 ลดความเหลื่อมล้ำน้อยมากเมื่อเทียบกับเป้าหมายอื่น แต่อย่างไรก็ดีพบว่า เป้าหมายที่ 2 ขจัดความหิวโหย และ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน มีแนวโน้มต่อการตอบสนองต่อ SDGs ที่จะบรรลุเป้าหมาย ในขณะที่เป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ และ 12 แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน ยังขาดข้อมูลในการประเมินผล และเป้าหมายที่มีความท้าทายในระดับสูง คือ เป้าหมายที่ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ ดังแสดงในรูปที่ 3 และ 4

รูปที่ 3 ผลการจัดอันดับของประเทศไทยใน Sustainable Development Report[8]

 

รูปที่ 4 SDG Trend ของประเทศไทยใน Sustainable Development Report[9]

 

อ้างอิง

[1] https://www.unsdsn.org/about-us

[2] https://www.bertelsmann-stiftung.de/en/home

[3] https://www.sdgindex.org/reports/sdg-index-and-dashboards-2016/

[4] https://s3.amazonaws.com/sustainabledevelopment.report/2020/2020_sustainable_development_report.pdf

[5]  SDG Index and Dashboards Detailed Methodological paper, 2018

[6] https://s3.amazonaws.com/sustainabledevelopment.report/2020/2020_sustainable_development_report.pdf

[7] https://s3.amazonaws.com/sustainabledevelopment.report/2020/2020_sustainable_development_report.pdf

[8] https://s3.amazonaws.com/sustainabledevelopment.report/2020/2020_sustainable_development_report.pdf

[9] https://s3.amazonaws.com/sustainabledevelopment.report/2020/2020_sustainable_development_report.pdf


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ:

นงนุช พูลสวัสดิ์
นักวิจัย
02 564 6500 ต่อ 4857
nongnucp@mtec.or.th