การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Impact Assessment: LCIA)
การประเมินผลกระทบตลอดวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Impact Assessment: LCIA) เป็นขั้นตอนที่ 3 ของการประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment: LCA) ตามมาตรฐาน ISO 14042 นับเป็นขั้นตอนสำคัญในการวิเคราะห์ถึงปัญหาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์หรือบริการ มีวัตถุประสงค์เพื่อแปลงข้อมูลบัญชีรายการสิ่งแวดล้อมที่ได้จากการรวบรวมข้อมูลสารขาเข้าและสารขาออกของระบบผลิตภัณฑ์ จากขั้นตอนการวิเคราะห์บัญชีรายการสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในรูปตัวชี้วัดผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเชิงปริมาณ เพื่อบ่งชี้ค่าความสามารถในการก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมขั้นกลางหรือขั้นปลาย ทำให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างระบบผลิตภัณฑ์กับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจะเกิดขึ้น
การประเมินผลกระทบตลอดวัฏจักรชีวิต แบ่งเป็น 2 ขั้นตอนหลัก ดังนี้
1) ขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ แบ่งเป็น 2 ขั้นตอนย่อย ได้แก่ การจำแนกข้อมูลให้อยู่ในกลุ่มผลกระทบ (Classification) และการแปลงข้อมูลบัญชีรายการให้เป็นค่าความสามารถในการก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Characterization)
2) ขั้นตอนที่เป็นทางเลือกให้ศึกษาเพิ่มเติม เช่น การเทียบค่าความสามารถในการก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์กับขนาดของผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้นๆ (Normalization) การจัดกลุ่มผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นหมวดหมู่ตามผลกระทบปลายทาง (Grouping) เป็นต้น
การประเมินผลกระทบมีแนวคิดพื้นฐานมาจากกลไกด้านสิ่งแวดล้อมและกระบวนการเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเริ่มตั้งแต่จุดกำเนิดของปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน รวมถึงการเกิดของเสีย การปล่อยมลพิษทางน้ำ อากาศ และดิน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพสิ่งแวดล้อม จากนั้นเกิดการแพร่กระจายของสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมที่นำไปสู่การสัมผัสของสารมลพิษกับสิ่งแวดล้อมรวมทั้งมนุษย์ และในที่สุดก่อให้เกิดภาวะมลพิษที่สร้างความเสียหาย หรือทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก จากที่กล่าวมา ทำให้สามารถจำแนกผลกระทบได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
1) ผลกระทบสิ่งแวดล้อมขั้นกลาง (Mid-point Impacts)
2) ผลกระทบสิ่งแวดล้อมปลายทาง (End-point Impacts)
โดยผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่นับตั้งแต่จุดกำเนิดของสารมลพิษจนกระทั่งการสัมผัสของสารมลพิษกับสิ่งแวดล้อม จัดเป็นกลุ่มผลกระทบขั้นกลาง ส่วนการเกิดภาวะมลพิษที่สร้างความเสียหาย หรือทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก นับเป็นผลกระทบปลายทาง
วิธีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (LCIA Method) จำแนกออกเป็น 2 ประเภท คือ วิธีการประเมินปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระหว่างจุดกำเนิดมลพิษจนถึงระยะทำลายหรือสร้างความเสียหาย เรียกว่า Problem-oriented approach เช่น วิธี CML (เนเธอร์แลนด์), ReCiPe (เนเธอร์แลนด์), IMPACT 2002+ (สวิตเซอร์แลนด์) และวิธีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมปลายทาง เรียกว่า Damage-oriented Approach ตัวอย่างเช่น วิธี EPS (สวีเดน), Eco-indicator 99 (เนเธอร์แลนด์), LIME (ญี่ปุ่น) เป็นต้น
สำหรับการพัฒนาวิธี LCIA ของไทยนั้น ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นและต้องพัฒนาอีกมากทั้งในส่วนข้อมูลพื้นฐานของไทยและตัวแบบจำลองที่เหมาะสม ดังนั้น การศึกษา LCA ในประเทศไทยส่วนใหญ่จึงเลือกใช้วิธีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของต่างประเทศเป็นหลัก เช่น วิธี CML, ReCiPe และ Eco-indicator 99 เป็นต้น ซึ่งผลการศึกษาที่ได้ก็จะสะท้อนถึงปัญหาและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศที่เราเลือกใช้วิธีการประเมินนั้น ๆ
สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยกลุ่มพัฒนาระเบียบวิธีการและตัวชี้วัด เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาวิธี LCIA ของประเทศไทย จึงริเริ่มทำงานวิจัยด้านการพัฒนาระเบียบวิธีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (LCIA Method) ที่เหมาะสมกับบริบทไทย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ:
เสกสรร พาป้อง
ผู้เชี่ยวชาญวิจัย
02 564 6500 ต่อ 4771
seksanp@mtec.or.th