ประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ
ดัชนีชี้วัดในมิติเชิงเศรษฐกิจ ควบคู่กับมิติเชิงสิ่งแวดล้อม
จากการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะภาคการผลิตนั้น ทำให้มีการใช้ทรัพยากร และพลังงานเพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตในปริมาณสูง ส่งผลให้เกิดมลภาวะจากการผลิตและใช้งานทรัพยากรและพลังงานสู่สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม สำหรับแนวคิดด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ควรสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร หรือหลักการที่เรียกว่า ประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency, EE) ซึ่งมาจากการรวมกันของคำว่า Ecology ที่แปลว่าระบบนิเวศ และ Economy ที่แปลว่าเศรษฐกิจ กับคำว่า Efficiency ที่แปลว่าประสิทธิภาพ
เป้าหมายหลักสำคัญของ Eco-efficiency คือ การสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการลดการปล่อยมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม จะเป็นแนวทางที่นำไปสู่การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (Sustainable Consumption and Production: SCP) ทั้งในส่วนของการผลิต การใช้สินค้า และการบริการที่สนองความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ลดการปล่อยมลพิษและของเสียตลอดวัฏจักรชีวิตของสินค้าและการบริการ โดยมุ่งเน้นการผลิตและการใช้สินค้าและการบริการที่ยั่งยืน การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน รวมทั้งเน้นการคำนึงถึงตลอดวัฏจักรชีวิตของสินค้าและผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การผลิต การใช้งาน การใช้ซ้ำ การนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ และการกำจัดซากผลิตภัณฑ์
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ:
อธิวัตร จิรจริยาเวช
นักวิจัย
02 564 6500 ต่อ 4076
athiwatj@mtec.or.th