ปัจจุบันการตื่นตัวเรื่องการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจในระดับโลก โดยมีการนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาประกอบกับการพิจารณาการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม จากการที่สหประชาชาติ ได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (UN’s 2015 Sustainable Development Goals; SDGs) รัฐบาลของแต่ละประเทศจึงได้ให้ความสำคัญในการทบทวนและรายงานประสิทธิภาพของการดำเนินงานทั้งทางด้านการควบคุมมลพิษ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
อย่างไรก็ดี วิธีการติดตามผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนก็เป็นประเด็นที่มีการหารือกัน นอกจาก ตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Index and Dashboard) ซึ่งพัฒนาโดย Sustainable Development Solutions Network (SDSN) ร่วมกับ มูลนิธิ The Betelsman Stiftung ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ประเทศต่าง ๆ สามารถดำเนินการตามเป้าหมายของ SDGs ได้สำเร็จ ซึ่งรายงานครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 2016 อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ SDG Index and Dashboard ได้ที่ https://shorturl.at/hrDI9
ดัชนีชี้วัดผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Performance Index – EPI) เป็นการพัฒนาวิธีการและตัวชี้วัดเพื่อประเมินว่าประเทศหนึ่ง ๆ มีการดำเนินการต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับใด ซึ่งวิธีการประเมินตัวชี้วัดนี้พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของมหาวิยาลัย Yale และ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย โดยมีการรายงานผลครั้งแรกในปี 2014 [1] มีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างมาตรฐานในการชี้วัดผลงานของประเทศหนึ่งๆเกี่ยวกับการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นมาตามหลักวิชาการในลักษณะคล้ายกันกับ ตัวชี้วัดผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) กับผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross National Product: GNP)
ตัวชี้วัดของ EPI จะประเมินใน 2 ด้าน คือ สุขภาวะด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental health) เช่น คุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำดื่ม และความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ (Ecosystem vitality) โดยปี 2020 มีการกำหนดตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อม 32 ตัวชี้วัด (Indicator) ใน 11 หมวดหมู่ปัญหา (Category) เช่น ปริมาณสัตว์น้ำคงเหลือ (Fish stocks) ระบบนิเวศบริการ (Ecosystem Service) ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) [1]
รูปที่ 1 ตัวชี้วัดของ EPI ทั้งด้าน สุขภาวะด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental health)
และความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ (Ecosystem vitality)
ที่มา: 2020 EPI Policymakers’ Summary , 2563 [1]
จากรายงาน EPI ปี ค.ศ. 2020 พบว่า 10 อันดับแรกที่มีคะแนนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมสูงสุด เป็นกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งมีกรอบนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่กำหนดขึ้นโดยสหภาพยุโรปอย่างชัดเจน ทุกประเทศในกลุ่มต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อย 40% จากระดับก๊าซเรือนกระจกในปี 2533 ต้องมีการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้อย่างน้อย 33% ของความต้องการใช้ในแต่ละประเทศ และต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้ได้อย่างน้อย 32.5% รวมถึงมีการดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างชัดเจน
รูปที่ 2 ลำดับประเทศที่มีการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมดีที่สุด โดยการจัดลำดับของ EPI 2020
ที่มา: กรมควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, 2563 [2]
ประเทศเดนมาร์กอยู่ในอันดับ 1 โดยมีคะแนน EPI รวม 82.5% มีความโดดเด่นในทุกตัวชี้วัด โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการเป็นประเทศผู้นำในการพัฒนากังหันลมรายใหญ่ที่สุดของโลก ทำให้ในปีที่ผ่านมาเดนมาร์กลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เกินครึ่งจากปี 2539 ด้วยมีนำพลังพลังงานลมมาใช้สูงถึง 47% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ และมีแผนจะลงทุนในด้านพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้นเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ถึง 70% ก่อนปี 2573 และลดให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 นอกจากนี้เดนมาร์กยังส่งออกเทคโนโลยีและพลังงานลมในยุโรปยังเพิ่มสูงขึ้นทุกปีจากนโยบายของสหภาพยุโรปที่กระตุ้นให้กลุ่มประเทศสมาชิกลดการปล่อนก๊าซเรือนกระจกลง 40% จากระดับในปี 2533 เรียกได้ว่าเศรษฐกิจของเดนมาร์กเติบโตขึ้นในขณะที่การปล่อยมลพิษลดลง [2]
โดยดัชนีผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมในปี 2563 พบว่าประเทศไทยมีคะแนน EPI เท่ากับ 45.4 โดยมีคะแนนด้านสุขภาวะด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental health) เท่ากับ 48.4 และความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ (Ecosystem vitality) เท่ากับ 43.5
รูปที่ 3 ดัชนีผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมในปี 2563 ของประเทศไทย
ที่มา: https://yalemaps.maps.arcgis.com/apps/dashboards/8dd0d10f07544331888ecc2a406d1825
โดยประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับ 78 จากทั้งหมด 180 ประเทศทั่วโลก โดยขยับขึ้นมาจากอันดับที่ 121 ในปี 2561 และอยู่ในอันดับที่ 7 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจากทั้งหมด 25 ประเทศในรายงาน รวมถึงประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันตกเชียงใต้ก็มีรายงานค่า EPI ไว้ดังนี้
ดัดแปลงจาก https://epi.yale.edu/
จากการศึกษาตัวชี้วัดในการประเมิน EPI จะเห็นได้ว่ามีการข้อมูลเชิงลึก ทั้งข้อมูลการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และ การจัดการมลพิษอันก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ ซึ่งหากนำข้อมูลที่ได้จากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงมาทำการปรับรูปแบบ หรือคำนวณเป็น ตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับการรายงานตัวชี้วัดต่างๆ ตามที่ระบุใน EPI หรือการนำหลักการ EPI มาปรับเป็นแนวทางประเมิน Performance ด้านสิ่งแวดล้อมของไทย ก็จะทำให้ได้ภาพสะท้อนปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ตรงกับสถานการณ์ของประเทศเมื่อเทียบกับการใช้แหล่งข้อมูลอ้างอิง อย่างไรก็ดีการดำเนินการดังกล่าวต้องมีการศึกษาความพร้อมของข้อมูลและอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบในแต่ละตัวชี้วัดในรูปแบบของการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ
สำหรับประเทศไทย ซึ่งมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ตลอดจนเริ่มมีการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเป็นวงกว้างนั้น การทบทวนและจัดเตรียมข้อมูลตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่เพื่อเพิ่มอันดับตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมโดยรวมของประเทศ แต่ยังช่วยบ่งชี้ถึงประสิทธิผล และประเด็นปัญหาเร่งด่วนด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ รวมถึง การวิเคราะห์ถึงประสิทธิภาพการดำเนินงานตามประเภทของปัญหา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบาย ตลอดจนใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติเพื่อสนับสนุนประเทศให้ก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
อ้างอิง
[1] 2020 EPI Policymakers’ Summary, https://epi.yale.edu/downloads
[2] กรมควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, 2563, https://www.facebook.com/deqpth/photos/a.655043231193454/3507100309321051/?type=1&theater
[3] EPI Score https://yalemaps.maps.arcgis.com/apps/dashboards/8dd0d10f07544331888ecc2a406d1825
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ:
พรพิมล บุญคุ้ม
นักวิจัย
02 564 6500 ต่อ 4077
pornpimb@mtec.or.th
Copyright © 2019 สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทย.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ