การจัดงานสัมมนาเผยแพร่และรับฟังความคิดเห็นต่อผลการศึกษา การจัดทำข้อมูลขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวตามบริบทของไทยใน 3 เสาหลัก ได้แก่ สุขภาพและอนามัย ความมั่นคงปลอดภัย และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม จัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 21 มีนาคม 2565 เวลา 09.00 – 12.00 น. ผ่านระบบวีดีทัศน์ทางไกล (Video Conference) ด้วยโปรแกรม Cisco Webex Meetings มีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับตัวชี้วัดของ 3 เสาหลักดังกล่าวรวมกว่า 100 ท่าน จาก 37 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการต่างประเทศ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานกิจการยุติธรรม สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กรมป่าไม้ กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค องค์การจัดการน้ำเสีย การประปานครหลวง และกรุงเทพมหานคร
การศึกษาดังกล่าว เป็นการดำเนินการภายใต้โครงการ “การศึกษาการจัดทำข้อมูลอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวตามบริบทของไทย” โดยสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทสย.) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาระเบียบวิธีการจัดทำข้อมูลและจัดอันดับดัชนีความสามารถทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว (Travel and Tourism Competitiveness Index: TTCI) ที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย ใน 3 เสาหลัก (Pillar) ดังกล่าวข้างต้น ตลอดจนสร้างเครือข่ายการจัดทำข้อมูล TTCI กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางในการยกอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของไทย โดยการจัดงานในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายมงคล วิมลรัตน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวเปิดงานสัมมนา และ รองศาสตราจารย์ ดร.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บรรยายแนะนำงานวิจัยและพัฒนาภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สวทช. และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จากนั้นจึงเป็นการนำเสนอผลการศึกษาทั้ง 3 เสาหลัก รวม 21 ตัวชี้วัด โดย ดร.จิตติ มังคละศิริ หัวหน้าโครงการวิจัย ในการนี้ หน่วยงานที่เข้าร่วมรับฟังการเผยแพร่ผลการศึกษา ได้ให้ข้อคิดเห็นต่อการจัดทำตัวชี้วัดที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการฯ โดยมีการหารือถึงการพัฒนาคะแนนของแต่ละตัวชี้วัดให้สูงขึ้น การรายงานข้อมูลของไทยให้กับองค์กรระหว่างประเทศ การวางแผนจัดตั้งคณะทำงานจากทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันทำงานเพื่อขับเคลื่อนอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว (TTCI) ของประเทศไทย รวมถึงการเสนอข้อคิดเห็นถึงการนำผลการศึกษาไปใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุด
สามารถสแกน QR Code เพื่อดาวน์โหลดเอกสารนำเสนอในรูปแบบไฟล์ PDF ทางด้านล่าง:
การอบรมเชิงปฏิบัติการ “การคาดการณ์ค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency) และการคาดการณ์ค่า Factor เป้าหมายในขอบเขตการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)” ภายใต้โครงการ “การประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency) เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ”
การอบรมเชิงปฏิบัติการ “การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization) และการคำนวณค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)” ภายใต้โครงการ “การประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency) เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ”
การประชุมกลุ่มย่อยการประเมินการหมุนเวียนทรัพยากรของกลุ่มเกษตรและอาหาร ภายใต้โครงการ “การพัฒนาชุดข้อมูลและค่าการหมุนเวียนของกลุ่มอาหารและที่อยู่อาศัย เพื่อบูรณาการแพลตฟอร์มวิถีชีวิตตามแนวเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย”
Copyright © 2019 สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทย.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ