การประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อแนวทางการขับเคลื่อนแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน: กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร จัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน 2566 เวลา 09:00-12:00 น. ณ ห้องแมจิก 1 ชั้น G โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร โดยมี ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวต้อนรับและเปิดการประชุม ในการประชุมดังกล่าวได้รับเกียรติจากวิทยากร 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย กลุ่มมิตรผล บริษัท โอโว่ ฟู้ดเทค จำกัด และ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) ในการบรรยายเรื่อง “การประยุกต์ใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนกับการพัฒนาด้านเกษตรและอาหาร” “การใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าไข่แบบครบวงจรด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน” และ “กอบกู้ อาหารส่วนเกิน – อาหารเหลือทิ้งเพื่อระบบอาหารที่ยั่งยืน” ตามลำดับ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากทั้งภาครัฐและเอกชนที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนแผน ววน. สาขาเศษฐกิจหมุนเวียนของกลุ่มเกษตรและอาหาร 37 แห่ง รวมกว่า 70 ท่าน อาทิ หน่วยบริหารและการจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และบริษัท ศูนย์วิทยาศาสตร์เบทาโกร จำกัด
สำหรับกิจกรรมดังกล่าวเป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการ “การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน ระยะที่ 2” สนับสนุนทุนวิจัยโดย สกสว.ดำเนินการโดยสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทสย.) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเสนอร่างโจทย์วิจัยของโครงการและรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อให้ได้แนวทางการดำเนินการวิจัยและผลผลิตของโครงการสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ทั้งภาคการผลิตและบริโภคของกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร
การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมให้ความคิดเห็นต่อร่างโจทย์วิจัยซึ่งแบ่งเป็น 6 หัวข้อหลัก ประกอบด้วย 1) การประเมินและการวิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยงของการสูญเสียและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการเกษตรและอาหาร 2) การป้องกันการเกิดการสูญเสียในกระบวนการผลิตเกษตรและอาหาร 3) การยกระดับกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการใช้ทรัพยากร และลดการใช้สารเคมี 4) การบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากของเสีย/วัสดุเหลือทิ้ง 5) การฟื้นฟูระบบเกษตรกรรม และ 6) นโยบาย กฎระเบียบ/ข้อบังคับ การศึกษาผลกระทบทาง เศรษฐศาสตร์และสังคม ทั้งนี้ในที่ประชุมได้เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่ควรพิจารณาเพิ่มเติม อาทิ หน่วยงานให้ทุนควรมีการทำงานร่วมกัน ไม่ให้ทุนซ้ำซ้อน และควรกระจายให้ครบทั้งห่วงโซ่ รวมถึงงบประมาณในการสนับสนุนโครงการต่างๆ ควรมีการกระจายให้ครอบคลุมทุกโจทย์วิจัย เพื่อให้เกิดการป้องกันมากกว่าการแก้ไข ทั้งนี้การจัดอันดับความสำคัญของพืช (Priority Setting) เป็นหนึ่งประเด็นที่ควรพิจารณา เนื่องจากจะทำให้งบประมาณถูกกระจายออกไปแบบมีทิศทางที่แน่ชัด อันส่งผลให้เกิดการ impact และ synergy ตลอดจนควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน เพื่อรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) ซึ่งความคิดเห็นที่ได้จากการประชุมเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาโจทย์วิจัยและดำเนินโครงการแบบบูรณาการต่อไป
สามารถสแกน QR Code เพื่อดาวน์โหลดเอกสารนำเสนอในรูปแบบไฟล์ PDF ทางด้านล่าง:
กิจกรรมนักวิจัยพบสื่อมวลชน NSTDA Meets the Press เรื่อง สวทช. นำ วทน. ช่วยบริหารจัดการอาหารส่วนเกินอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศไทย (Thailand’s Food Bank)
งานเปิดตัวฐานข้อมูล CO2, CE, SDGs เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย สู่เศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ
การอบรมเชิงปฏิบัติการ “การคาดการณ์ค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency) และการคาดการณ์ค่า Factor เป้าหมายในขอบเขตการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)” ภายใต้โครงการ “การประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency) เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ”
Copyright © 2019 สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทย.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ