การจัดซื้อจ้ดจ้างสีเขียว ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน-SDGs

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมกับ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงเรื่อง “การประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (LCA) ของสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และคาดการณ์ผลจากการดำเนินงานส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”  เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2562

 

โดยทั้งสองหน่วยงานได้ร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ สนับสนุนให้มีการจัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และการประเมินวัฏจักรชีวิตของสินค้าและบริการ ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรเพื่อสร้างองค์ความรู้ และนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการสนับสนุนและขับเคลื่อนการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่างๆ สำหรับประเทศไทย

ทั้งนี้ คพ. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Public Procurement (GPP) มาตั้งแต่แผนส่งเสริมฯ ระยะที่ 1 (ปี พ.ศ. 2551-2554) จนถึงปัจุบันเข้าสู่แผนส่งเสริมฯ ระยะที่ 3 (ปี พ.ศ. 2560-2564) ทั้งนี้ สหภาพยุโรปได้นิยาม GPP ไว้ว่า เป็นแนวทางที่หน่วยงานภาครัฐผนวกเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมเข้ากับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทุกขั้นตอน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นและเร่งการพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการค้นหาและเลือกผลลัพธ์หรือทางออกที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำที่สุดผ่านการพิจารณาวัฏจักรของสินค้าตลอดวัฏจักร

จากบันทึกข้อตกลงดังกล่าว สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีบทบาทสำคัญในการนำองค์ความรู้ เทคนิค และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้สนับสนุนการดำเนินงานของกรมควบคุมมลพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคนิคด้านการประเมินวัฏจักรชีวิต ที่สามารถใช้ในการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและคาดการณ์ผลกระทบด้านเศรษฐศาสตร์ได้  ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ คพ. สามารถขับเคลื่อนการดำเนินส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะ SDG 12 (สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการบริโภคและผลิตที่ยั่งยืน) ข้อ 12.7 (ส่งเสริมแนวปฏิบัติด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาคสาธารณะที่ยั่งยืน ตามนโยบายและการให้ลำดับความสำคัญของประเทศ) และข้อ 12.6 (สนับสนุนให้บริษัท โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทข้ามชาติ นำแนวปฏิบัติอย่างยั่งยืนมาใช้ และบูรณาการพัฒนาในกระบวนการรายงานรวมทั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก) โดยผ่านโครงการต่างๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และโครงการล่าสุดคือ “โครงการจัดทำข้อมูลบัญชีรายการวัฏจักรชีวิตสินค้าและบริการ” ซึ่งดำเนินการในปี 2562