การพัฒนาค่าฟุตปริ้นต์วัสดุของประเทศไทย

ฟุตพรินต์วัสดุ (MATERIAL FOOTPRINT: MF) เป็นตัวชี้วัดปริมาณการใช้วัสดุเสมือนจริงโดยปันส่วนมาจากการสกัดวัสดุจากทั่วโลกเพื่อสนองความต้องการขั้นสุดท้ายภายในประเทศ ฟุตพรินต์วัสดุทั้งหมดเป็นผลรวมของฟุตพรินต์วัสดุจากชีวมวล (BIOMASS) เชื้อเพลิงฟอสซิล (FOSSIL FUELS) แร่โลหะ (METAL ORES) และแร่อโลหะ (NON-METAL ORES) ซึ่งการรายงานผลควรพิจารณาข้อมูลการใช้วัสดุในประเทศ (DOMESTIC MATERIAL CONSUMPTION: DMC) และฟุตพรินต์วัสดุ (MATERIAL FOOTPRINT: MF) ร่วมกัน

เนื่องจากชี้วัด DMC และ MF ครอบคลุมทั้งประเด็นด้านเศรษฐกิจ การผลิต และการบริโภค โดย DMC เป็นการรายงานปริมาณวัสดุจริงในระบบเศรษฐกิจ ในขณะที่ MF เป็นการรายงานปริมาณวัสดุเสมือนจริงที่ต้องการตลอดห่วงโซ่อุปทานเพื่อตอบสนองความต้องการขั้นสุดท้าย ยกตัวอย่างเช่นประเทศหนึ่งมี DMC สูงมาก เนื่องจากมีภาคการผลิตพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อการส่งออก หรือ DMC ต่ำมากเนื่องจากกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมใช้วัสดุส่วนใหญ่ซึ่งเป็นวัตถุดิบจากประเทศอื่นๆ ฟุตพรินต์วัสดุ (MF) ทำให้เห็นถึงการไหลเวียนของวัสดุตลอดห่วงโซ่อุปทานและการไหลเวียนข้ามพรมแดน จึงสามารถอธิบายถึงที่มาของทั้งสองเหตุการณ์ของ DMC ได้

สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยกลุ่มพัฒนาระเบียบวิธีการและตัวชี้วัด มีบทบาทหลักในการพัฒนาตัวชี้วัดฟุตพรินต์วัสดุ (MF) ของประเทศไทย ดำเนินงานพัฒนาค่าฟุตพรินต์วัสดุของไทย โดยประยุกต์ใช้เทคนิคการวิเคราะห์ปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Analysis: IOA) ซึ่งเป็นวิธีการที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยอ้างอิงวิธีการตามคู่มือการจัดทำบัญชีการไหลเวียนของวัสดุในระบบเศรษฐกิจ (Economy-wide material flow accounts: EW-MFA) และเอกสารแบบจำลองการประเมินวัตถุดิบเทียบเท่าของสหภาพยุโรป (Documentation of the EU RME model) ซึ่งจัดทำขึ้นโดย EUROSTAT

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ:

เสกสรร พาป้อง
ผู้เชี่ยวชาญวิจัย
02 564 6500 ต่อ 4771
seksanp@mtec.or.th