การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ประเทศไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวด้วยความหลากหลายของวัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติอย่างต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ จนถึง พ.ศ. 2562 ช่วงก่อนวิกฤตการณ์โควิด 19 มีผู้เยี่ยมเยือนกว่า 40 ล้านคนจากทั่วทุกมุมโลกมายังประเทศไทย นับเป็นจุดสูงสุดของประวัติศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวที่สร้างความมั่งคั่งและผาสุกแก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่การท่องเที่ยวเติบโตถึงขีดสุด ปัญหาที่ฝังรากลึกมานานถูกเปิดเผยพร้อมกับความเสื่อมโทรมของธรรมชาติที่เห็นเด่นชัดมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การกัดเซาะชายฝั่ง ขยะพลาสติก ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (Particulate Matter หรือ PM 2.5) ความสะอาดของแหล่งน้ำสาธารณะ การเสื่อมของความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียคุณค่าด้านการท่องเที่ยว ดังนั้นการมุ่งสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนคือทางรอดของสังคมไทย

ความหมายของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คือความต้องการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องพร้อมกับหาแนวทางการอยู่ร่วมกันของการท่องเที่ยวกับท้องถิ่น ในขณะที่ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้บริสุทธิ์ ในการทำงานระดับสากล องค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการท่องเที่ยวรวมถึงการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และมีงานวิชาการที่เกี่ยวข้องมากมายสนับสนุนเรื่องดังกล่าว

การส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนถือเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการดำเนินการในมิติสากล โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างมูลค่าควบคู่ไปกับการเคารพการใช้ทรัพยากรท้องถิ่น ปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการป้องกันและแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ทั้งศาสตร์ที่เข้าถึงปัญหาโดยตรง และการใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ (Scientific based) ที่มีการประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐและเอกชน และมีอิทธิพลมากขึ้นกว่าในอดีต โดยมีเรื่องที่น่าสนใจ เช่น

           –   การจัดทำบัญชีประชาชาติด้านการท่องเที่ยวที่รวมต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม (Tourism Satellite Account-System of Environmental Economic Accounting; TSA-SEEA) ระดับพื้นที่

           –  การประเมินผลิตภัณฑ์มวลรวมสีเขียว (Green GDP) ภาคการท่องเที่ยว

           –  การจัดทำข้อมูลเพื่อพัฒนาส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น ดัชนีวัดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวและการเดินทาง (Travel and Tourism Competitiveness Index; TTCI)

           –  การประยุกต์ใช้มาตรฐานระดับนานาชาติ เช่น หลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria; GSTC)

           –  การประเมินด้านต่างๆ เพื่อการบริการจัดการและการดูแลรักษาแหล่งท่องเที่ยว เช่น การจัดทำขีดความสามารถในการรองรับ (Carrying Capacity; CC) ของแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ

           –  การประเมินมูลค่าของระบบนิเวศ (Ecosystem Service) เพื่อให้ทราบถึงคุณค่าของพื้นที่ และโอกาสในการพัฒนาในอนาคต

ทั้งนี้ สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีหน้าที่ในการพัฒนาจัดทำข้อมูลวิชาการคุณภาพสูงที่น่าเชื่อถือ การบริหารจัดการ รวมถึงการบริการข้อมูลอย่างเป็นระบบ และประสานงานอย่างบูรณาการกับทุกภาคส่วน เพื่อสนับสนุนการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย

 


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ:

จิตติ มังคละศิริ
นักวิจัยอาวุโส
02 564 6500 ต่อ 4063
jitti.mungkalasiri@nstda.or.th