ระบบอาหารที่ยั่งยืน

ระบบอาหาร (Food Systems: FS) ครอบคลุมผู้เกี่ยวข้องทุกช่วงและทุกกิจกรรมที่เชื่อมโยงกันในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ประกอบด้วย การผลิต การรวบรวม การแปรรูป การกระจาย การบริโภค และการกำจัดผลิตภัณฑ์อาหารที่มาจากการเกษตร การป่าไม้ หรือการประมง และบางส่วนของเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับระบบอาหาร

ระบบอาหารประกอบด้วยระบบย่อย (เช่น ระบบการเกษตร ระบบการจัดการของเสีย ระบบปัจจัยการผลิต ฯลฯ) และปฏิสัมพันธ์กับระบบสำคัญอื่นๆ (เช่น ระบบพลังงาน ระบบการค้า ระบบสุขภาพ ฯลฯ) ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในระบบอาหารอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในระบบอื่น ตัวอย่างเช่น นโยบายส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่มากขึ้นในระบบพลังงานจะมีผลกระทบอย่างมากต่อระบบอาหาร

ระบบอาหารที่ยั่งยืน (Sustainable Food Systems: SFS) เป็นระบบอาหารที่ให้ความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการแก่ทุกคนในมิติด้านเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการสำหรับคนรุ่นต่อไปซึ่งจะไม่ลดลง หมายความว่า มีกำไรตลลอด (ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ) มีประโยชน์ในวงกว้างต่อสังคม (ความยั่งยืนทางสังคม) และมีผลกระทบเชิงบวกหรือเป็นกลางต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ (ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม)

ระบบอาหารยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDG) ซึ่งนำมาใช้ในปี 2558 โดย SDGs เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในด้านการเกษตรและระบบอาหารเพื่อยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงด้านอาหารและปรับปรุงโภชนาการภายในปี พ.ศ. 2573 ดังนั้น ระบบอาหารทั่วโลกจะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้มีประสิทธิผลมากขึ้น ครอบคลุมถึงประชากรที่ยากจนและด้อยอากาส สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และสามารถส่งมอบอาหารที่ดีต่อสุขภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการสำหรับทุกคน ซึ่งเป็นความท้าทายเชิงระบบและมีความซับซ้อนที่ต้องการการผสมผสานของการดำเนินการที่เชื่อมโยงกันทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก

ระบบอาหารในปัจจุบันไม่ยั่งยืน

การผลิตอาหารเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ทรัพยากรสูง ซึ่งมีผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก เช่น น้ำ และพลังงาน ส่งผลให้สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การผลิตอาหารมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 21-37% (Mbow et al., 2019) การเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ ยังคงเป็นปัญหาสำหรับประชากรในทุกประเทศ โรคอ้วนและโรคเบาหวาน เกี่ยวข้องกับการเสนออาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพและทางเลือกในการบริโภคอาหารที่ไม่ดี จนกลายเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในหลายประเทศ ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจ ชุมชนเกษตรกรรมและการประมงก็พยายามหาเลี้ยงชีพแต่มีส่วนต่างกำไรน้อยมากในเครือข่ายอาหาร

สิ่งที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุระบบอาหารที่ยั่งยืน

นโยบายเกี่ยวกับสิ่งที่จะนำไปสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืน ประกอบด้วยการปฏิบัติ ตามแนวทางดังต่อไปนี้

  • ส่งเสริมแนวทางที่ยั่งยืนให้เข้มข้นขึ้นหรือขยายขนาดระบบนิเวศเกษตร: การเพิ่มหรือรักษาผลผลิตและประสิทธิภาพในขณะที่ลดภาระด้านสิ่งแวดล้อม (ความหลากหลายทางชีวภาพ ดิน น้ำ และอากาศ)
  • ลดการสูญเสียอาหารและลดขยะอาหาร ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการใช้ซ้ำและการรีไซเคิลเศษอาหารที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
  • กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการบริโภคอาหารที่มีผลดีต่อสุขภาพและใช้ทรัพยากรน้อยลง (เช่น อาหารจากพืช)
  • ปรับปรุงความยืดหยุ่นและความแข็งแกร่งของระบบอาหาร โดยเฉพาะการกระจายความเสี่ยงเพื่อรับมือกับแรงกระแทกจากการพัฒนาทางภูมิรัฐศาสตร์และปรับให้เข้ากับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • เพิ่มความรับผิดชอบและการดูแลของผู้ผลิตและผู้บริโภคต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และสาธารณสุขของระบบอาหารผ่านการพัฒนาและติดตามนโยบายแบบมีส่วนร่วม เพิ่มความโปร่งใส การศึกษา/การฝึกอบรม และการปรับปรุงฉลากเพื่อแจ้งทางเลือกแก่ผู้บริโภค

วงล้อระบบอาหาร (Food System Wheel)

เป้าหมายหลักวงล้อระบบอาหารตามกรอบขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO ) ประกอบด้วย การลดความยากจน และความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ โดยอยู่ในภายใต้กรอบสมรรถนะความยั่งยืนทั้งสามมิติ (เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม) สมรรถนะดังกล่าวถูกกำหนดโดยพฤติกรรมของผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบอาหาร (คนเป็นศูนย์กลาง) การดำเนินงานนี้จะเกิดขึ้นในระบบโครงสร้าง ซึ่งประกอบด้วยระบบหลัก องค์ประกอบทางสังคม และองค์ประกอบทางธรรมชาติ โดยระบบหลักประกอบด้วย ระดับของกิจกรรมตามผังการไหลของผลิตภัณฑ์อาหาร (การผลิต การรวบรวม การแปรรูป การกระจาย และการบริโภค รวมถึงการกำจัดของเสีย) และระดับของบริการสนับสนุน องค์ประกอบทางสังคม ประกอบด้วยนโยบายขององค์กร กฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องทั้งหมด บรรทัดฐานทางสังคม-วัฒนธรรม และโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนองค์ประกอบทางธรรมชาติ ประกอบด้วย น้ำ ดิน อากาศ ภูมิอากาศ ระบบนิเวศและพันธุศาสตร์

 

ความยั่งยืนในระบบอาหาร

การพัฒนาระบบอาหารที่ยั่งยืน จะต้องมีการตรวจสอบความยั่งยืนแบบองค์รวม โดยระบบอาหารที่ยั่งยืนจะต้องสร้างมูลค่าในเชิงบวกพร้อมกันทั้งสามมิติ ได้แก่

  • มิติทางเศรษฐกิจ ระบบอาหารถือว่ายั่งยืน ถ้ากิจกรรมที่ดำเนินการโดยผู้เกี่ยวข้องในระบบอาหารแต่ละรายหรือผู้ให้บริการสนับสนุนสามารถทำงานในเชิงพาณิชย์ได้ กิจกรรมควรสร้างประโยชน์หรือเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม (ค่าแรงสำหรับคนงานภาษีสำหรับรัฐบาล ผลกำไรสำหรับองค์กร และการปรับปรุงแหล่งอาหารสำหรับผู้บริโภค)
  • มิติทางสังคม ระบบอาหารถือว่ายั่งยืน เมื่อมีความเท่าเทียมในการกระจายมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงกลุ่มที่มีความเสี่ยงโดยจำแนกตามเพศ อายุ เชื้อชาติ และอื่นๆ หลักการพื้นฐานคือ กิจกรรมของระบบอาหารจำเป็นต้องมีส่วนร่วมเพื่อความก้าวหน้าของผลลัพธ์ทางสังคม-วัฒนธรรมที่สำคัญ เช่น โภชนาการและสุขภาพ ประเพณี สภาพแรงงาน และสวัสดิภาพสัตว์
  • มิติด้านสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนถูกกำหนดโดยการทำให้มั่นใจว่าผลกระทบของกิจกรรมระบบอาหารที่มีต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติโดยรอบมีความเป็นกลางหรือเป็นบวกโดยคำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพ น้ำ ดิน สัตว์และพืช สุขภาพ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ ฟุตพริ้นท์น้ำ การสูญเสียอาหารและขยะอาหาร และความเป็นพิษ

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและดัชนีการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านอาหาร

(SDGs and Food Sustainability Index)

ที่มา Economist Intelligence Unit และ Barilla Center for Food & Nutrition

ดัชนีการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านอาหาร สร้างขึ้นโดย Economist Intelligence Unit และ Barilla Center for Food & Nutrition เป็นเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อเน้นนโยบายระหว่างประเทศและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งของโลกและ SDGs สำคัญสำหรับอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมืองยั่งยืน การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน สุขภาพ ความเท่าเทียมกันทางเพศการศึกษาและโครงสร้างพื้นฐาน

ดัชนีการจัดอันดับประเทศในเรื่องความยั่งยืนของระบบอาหาร ยึดหลักสามประการ คือ การสูญเสียอาหารและขยะอาหาร การเกษตรแบบยั่งยืน และความท้าทายทางโภชนาการ ซึ่งสามารถวิเคราะห์ความยั่งยืนได้จากการใช้ตัวชี้วัดต่าง ๆ ทั้งหมด 58 ตัว

Food Sustainability Index 2018

คะแนนรวมของดัชนีการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านอาหารคำนวณจากค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของคะแนน 3 หมวดหมู่ คือ การสูญเสียอาหารและขยะอาหาร เกษตรกรรมที่ยั่งยืน และความท้าทายทางโภชนาการ คะแนนสูงหมายความว่าประเทศอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้องที่นำไปสู่ระบบอาหารและโภชนาการที่ยั่งยืน เนื่องจากความแตกต่างโดยธรรมชาติของระบบอาหารและการเกษตร การเข้าถึงปัจจัยการผลิต ปัญหาด้านอาหารและโภชนาการ และการพัฒนานโยบายและการดำเนินการข้ามประเทศที่ระดับรายได้แตกต่างกัน การจัดอันดับโลกโดยรวมควรดำเนินการด้วยความระมัดระวัง

การสูญเสียอาหารและขยะอาหาร: คะแนนการสูญเสียอาหารและขยะอาหารเป็นค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของตัวชี้วัดด้านนโยบายเพื่อตอบสนองต่อการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร คะแนนสูงหมายความว่าประเทศอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้องในการจัดการกับการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร

เกษตรยั่งยืน: คะแนนเกษตรยั่งยืนเป็นค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของตัวชี้วัดในหมวดหมู่น้ำ ที่ดิน การปล่อยมลพิษ และผู้ใช้ที่ดิน คะแนนสูงหมายถึงประเทศอยู่ในแนวทางที่ถูกต้องในการนำระบบการเกษตรแบบยั่งยืนไปใช้

ความท้าทายทางโภชนาการ: คะแนนความท้าทายทางโภชนาการเป็นค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของตัวชี้วัดในหมวดหมู่สุขภาพและโภชนาการ คะแนนสูงหมายถึงประเทศอยู่ในแนวทางที่ถูกต้องในการแก้ปัญหาด้านโภชนาการ

Food Sustainability Index (FSI) ของประเทศไทย

ในปัจจุบัน (มีนาคม พ.ศ.2564) ประเทศไทยยังไม่มีการคำนวณดัชนีการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านอาหาร เนื่องจากข้อมูลของไทยยังกระจัดกระจายตามหน่วยงานต่างๆ ประกอบกับไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย และข้อมูลยังไม่สอดคล้องกับตัวชี้วัดใน FSI สำหรับตัวอย่างฐานข้อมูลที่สามารถนำมาคำนวณดัชนี FSI ได้ เช่น

    • ฐานข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
    • คุณภาพและมลพิษทางอากาศ ปริมาณขยะ โดยกรมควบคุมมลพิษ
    • ฐานข้อมูลน้ำเพื่อการเกษตรและการจัดการน้ำ โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
    • ฐานข้อมูลการเกษตร โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
    • ฐานข้อมูลพื้นที่ป่าไม้ โดยกรมป่าไม้
    • ฐานข้อมูลการประมง โดยกรมประมง

นอกจากนี้ ยังมีกรณีศึกษาเกษตรยั่งยืน ที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยต่างๆ และสถาบันวิจัยของรัฐ เช่น การประเมินความยั่งยืนของอ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น ข้อมูลและผลการศึกษาจากงานวิจัยเหล่านี้สามารถนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาดัชนี FSI ของประเทศไทยได้

 


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ:

เสกสรร พาป้อง
ผู้เชี่ยวชาญวิจัย
02 564 6500 ต่อ 4771
seksanp@mtec.or.th