การสื่อสารข้อมูลด้านความยั่งยืนสู่ผู้บริโภค

การสื่อสารข้อมูลด้านความยั่งยืนสู่ผู้บริโภคนั้น (Customer Information) เป็นส่วนที่มีความสำคัญ ที่ทำให้ผู้บริโภคทราบถึงข้อมูลสมรรถนะด้านความยั่งยืน (ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม) ของผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งในอดีตอาจเป็นข้อมูลด้านที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญน้อยกว่าด้านเศรษฐกิจ แต่ในปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มหันมาใส่ใจและตระหนักด้านนี้มากขึ้น ดังนั้นการสื่อสารข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี มีความน่าเชื่อถือในเชิงวิทยาศาสตร์ เข้าใจง่าย จึงเป็นส่วนที่สำคัญในการเพิ่มแรงกระตุ้นและจิตสำนึกรักษ์โลกให้แก่ผู้บริโภคหรือผู้ใช้ข้อมูล และยังอาจเป็นการเพิ่มแรงผลักดันหรืออำนาจในการต่อรองไปสู่การกำหนดนโยบาย รวมถึงเพิ่มโอกาสในการสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การบริโภคอีกด้วย

UN Environment ได้ระบุ โปรแกรมการสื่อสารข้อมูลสู่ผู้บริโภค (Consumer Information Programme for Sustainable Consumption and Production, CI-SCP) ไว้เป็น 1 ใน 6 โปรแกรม ภายใต้ กรอบการดำเนินงานระยะ 10 ปี เพื่อการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน (10YFP) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการให้ข้อมูลความยั่งยืนที่มีคุณภาพสำหรับสินค้าและบริการ รวมถึงการระบุและการดำเนินการตามกลยุทธ์อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมผู้บริโภคในการบริโภคอย่างยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดแรงผลักดันและยกระดับนโยบายและการมีส่วนร่วมและสร้างโอกาสในการทำงานร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วนและผู้มีส่วนได้เสีย

ที่มา: https://www.oneplanetnetwork.org/consumer-information-scp/

 

เครื่องมือในการสื่อสารกับผู้บริโภค 

  • การสื่อสารข้อมูลสู่ผู้บริโภคนั้น สามารถสื่อสารได้หลายทาง อาทิ ฉลากสิ่งแวดล้อม (Eco labels) มาตรฐานด้านความสมัครใจ (voluntary standards) การเปิดเผยหรือประกาศข้อมูลของผลิตภัณฑ์ (product declarations) ซึ่งทั้งหมดควรสื่อสารด้วยกรอบแนวคิดการพิจารณาตลอดวัฎจักรชีวิต (Life cycle approach)
https://innoversity.masci.or.th/wp-content/uploads/eco_labels_wallpaper.jpg

 

ฉลากสิ่งแวดล้อม

ฉลากสิ่งแวดล้อมเป็นอีกทางที่จะสื่อสารสู่ผู้บริโภคได้โดยตรง ผ่านการประชาสัมพันธ์ สื่อต่างๆ รวมถึงติดข้อมูลไว้ที่ตัวสินค้าที่วางขาย โดยฉลากสิ่งแวดล้อมจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามมาตรฐานที่ประกาศโดยองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน(International Organization for Standardization, ISO) ได้แก่

ฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 1 (Ecolabel type I) ตามกรอบ ISO 14024

เป็นฉลากที่แสดงให้เห็นว่าสินค้านั้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าสินค้าประเภทเดียวกัน โดยพิจารณาความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยกรอบแนวคิดการพิจารณาตลอดวัฎจักรชีวิต หรือตลอดห่วงโซ่อุปทาน ในประเทศไทยมีฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 1 โดยเรียกว่า ฉลากเขียว ดำเนินการให้การรับรองโดย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) โดยมีสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยเป็นเลขา

ที่มา https://www.nstda.or.th/th/nstda-knowledge/3381-xcep-eco-design

ฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 2 (Ecolabel type II) ตามกรอบ ISO ISO14021 :

เป็นฉลากที่แต่ละผู้ผลิตจะประกาศแสดงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์หรือบริการของตนเอง โดยอาจกำหนดรูปแบบ ลักษณะการสื่อสาร หรือประเด็นที่จะสื่อสารด้วยตัวเอง ตัวอย่างฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 2 ในประเทศไทยที่กำลังดำเนินการ ได้แก่ ฉลาก SCG eco value ฉลาก PTT Green for Life เป็นต้น

ฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 3 (Ecolabel type III) ตามกรอบ ISO 14025:

เป็นฉลากที่ใช้กรอบแนวคิดด้านการพิจารณาตลอดวัฎจักรชีวิตเพื่อประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์หรือบริการ โดยอาจแสดงผลกระทบเชิงเดี่ยวหรือหลายผลกระทบได้ ตัวอย่างฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 3 ที่ดำเนินการในประเทศไทย คือ ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ที่ให้การรับรองโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก, โดยแสดงผลกระทบสิ่งแวดล้อมเฉพาะด้านการเกิดภาวะโลกร้อน (Global warming)  นอกจากนี้ยังมี และ “ฉลากฟุตพริ้นท์การขาดแคลนน้ำ (Water Scarcity Footprint)” ที่ดำเนินการโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งแสดงผลกระทบต่อการขาดแคลนน้ำ

เอกสารอ้างอิง:

https://www.unenvironment.org/explore-topics/resource-efficiency/what-we-do/responsible-industry/consumer-informationhttps://www.oneplanetnetwork.org/consumer-information-scp

 


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ:

อธิวัตร จิรจริยาเวช
นักวิจัย
02 564 6500 ต่อ 4076
athiwatj@mtec.or.th