เป้าประสงค์ที่ 12.b:

พัฒนาและดำเนินการใช้เครื่องมือเพื่อจะติดตามตรวจสอบผลกระทบของการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่สร้างงานและส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น

ตัวชี้วัดที่ 12.b.1.
การใช้เครื่องมือทางด้านสถิติมาตรฐานในการติดตามสภาพเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

 

Tier Classification:                                Pending data availability review[1]  (by IAEG-SDG Members) As of 17 April 2020
หน่วยงานที่รับผิดชอบ:                            สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
สถานะข้อมูลของประเทศไทย:                  ไม่แน่ชัด
ปีที่รายงาน:                                               ยังไม่มีการรายงาน

วิธีการประเมิน[2]:

ปัจจุบัน United Nations Statistics Division (UNSD) และ United Nation World Tourism Organization (UNWTO) อยู่ระหว่างการพัฒนาแนวทางการประเมินที่เหมาะสมในการวัดความยั่งยืนด้านการท่องเที่ยวของแต่ละประเทศทั่วโลกว่าควรมุ่งเน้นไปที่การประยุกต์ใช้กรอบการดำเนินงานของการจัดทำบัญชีประชาชาติที่คิดรวมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (System of Integrated Environment and Economic Accounting: SEEA) และบัญชีประชาชาติด้านการท่องเที่ยว (Tourism Satellite Accounts: TSA) เข้าด้วยกัน (TSA-SEEA) ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นวิธีที่ทำให้แต่ละประเทศสามารถบรรลุถึงเป้าประสงค์ที่ 12.b ได้โดยทั่วกัน[3]
ผลจากการศึกษาของ UNWTO ได้กำหนด core accounts ซึ่งหมายถึงบัญชีอย่างน้อยที่สุดที่ประเทศต่าง ๆ ที่สนใจจะจัดทำ TSA-SEEA ควรมีการสร้างขึ้นเพื่อชี้วัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย (1) บัญชีทรัพยากรน้ำ (2) บัญชีพลังงาน (3) บัญชีก๊าซเรือนกระจก และ (4) บัญชีขยะที่เป็นของแข็ง

วิธีการการจัดทำ TSA-SEEA นั้นใช้หลักการเดียวกันกับการจัดทำตารางอุปสงค์และอุปทานตามระบบบัญชีประชาชาติ (System of National Accounts: SNA) โดยรายละเอียดของบัญชี SEEA มีดังต่อไปนี้

  1. บัญชีทรัพยากรน้ำ (Accounts for water flows for tourism industries) เป็นบัญชีที่แสดงถึงค่าทางกายภาพของการผลิตและการใช้น้ำที่เกิดขึ้น (flows of water) แสดงข้อมูลเป็นภาพรวมของการผลิตน้ำที่ได้มาจากแหล่งต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมอื่น ๆ การจำแนกแจกจ่ายน้ำไปยังผู้ใช้ และเมื่อใช้แล้วจะเกิดเป็นน้ำเสีย โดยน้ำเสียดังกล่าวจะถูกนำไปบำบัดต่อไป การจัดทำอาจเริ่มจากการเก็บข้อมูล local water utilities ข้อมูลการผลิตและใช้น้ำ (water flows) จำแนกตามประเภทของธุรกิจ อย่างไรก็ตามในธุรกิจท่องเที่ยวที่ตั้งในพื้นที่ห่างไกล การได้มาซึ่งทรัพยากรน้ำอาจมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ น้ำบาดาลหรือน้ำฝน ซึ่งจำเป็นต้องรวบรวมและบันทึกข้อมูลดังกล่าวไว้ เช่นเดียวกับการผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลเพื่อใช้อุปโภคบริโภคก็ต้องนับรวมด้วยเช่นกัน
  2. บัญชีพลังงาน (Accounts for energy flows for tourism industries) เป็นบัญชีที่แสดงถึงการได้มาและการใช้ไปของพลังงาน โดยแสดงถึงค่าของพลังงานแต่ละประเภท โดยแบ่งออกเป็นพลังงานหมุนเวียนและพลังงานไม่หมุนเวียน การจัดทำก็คือการสร้างตารางอุปสงค์และอุปทานทางกายภาพ ทั้งนี้พลังงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอาจมีไม่มากนัก นอกจากพลังงานที่ใช้ในการเดินทาง นอกจากนี้การผลิตพลังงานเพื่อใช้เอง เช่น solar rooftop ก็จะต้องถูกนำมานับรวมด้วย
  3. บัญชีก๊าซเรือนกระจก (Accounts for GHG emissions for tourism industries) เป็นบัญชีที่แสดงค่าทางกายภาพของการได้มาและใช้ไปของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (physical supply and use table for flows of GHG emissions) ที่เกิดขึ้นโดยนักท่องเที่ยวจำแนกตามชนิดของก๊าซเรือนกระจก โดยหลักการแล้ว การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นการปล่อยทางตรงขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ดังนั้นการคำนวณค่าเป็นรายปีและค่าในระดับประเทศก็เพียงพอสำหรับการวิเคราะห์และกำหนดนโยบาย แต่อาจให้ความสำคัญโดยการจำแนกจำนวนที่ปลดปล่อยตามประเภทของการขนส่ง เช่น ทางถนน ทางน้ำ ทางอากาศ เป็นต้น ประเด็นสำคัญ
    สำหรับบัญชีนี้ คือ การแยกการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เกิดจากนักท่องเที่ยวและที่มิใช่นักท่องเที่ยว
  4. บัญชีขยะที่เป็นของแข็ง (Accounts for solid waste for tourism industries) เป็นบัญชีที่แสดงค่าทางกายภาพของการได้มาและใช้ไปที่เกิดจากการไหลเวียนของขยะที่เป็นของแข็ง (physical supply and use table for flows of solid waste) แสดงถึงค่าของการเกิด การเก็บรวบรวมและการกำจัดขยะที่เป็นของแข็งจำแนกตามชนิดของขยะ และจำแนกระหว่างขยะที่เกิดจากนักท่องเที่ยวและที่มิใช่นักท่องเที่ยว

สำหรับในส่วนของ TSA ที่นำมาใช้ทำ TSA-SEEA นั้น สามารถนำ TSA ในแต่ละ tourism industries ที่จัดทำขึ้นตาม TSA; RMF 2008 มาใช้ได้โดยตรง โดยมีตาราง TSA ที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น 6 ตารางดังนี้

  1. ตารางที่ 1 ค่าใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวของผู้มาเยือนที่มิได้มีถิ่นพำนักอาศัยในประเทศนั้น จำแนกประเภทตามผลิตภัณฑ์
  2. ตารางที่ 2 การใช้จ่ายในการท่องเที่ยวภายในประเทศไทยของผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย แยกตามผลิตภัณฑ์ประเภทผู้เยี่ยมเยือน และรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยว
  3. ตารางที่ 3 การใช้จ่ายในการท่องเที่ยวต่างประเทศของผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยแยกตามผลิตภัณฑ์ และประเภทผู้เยี่ยมเยือน
  4. ตารางที่ 4 การใช้จ่ายในการท่องเที่ยวภายในประเทศไทยทั้งหมดแยกตามผลิตภัณฑ์
  5. ตารางที่ 5 การผลิตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมอื่นๆ (ณ ราคาพื้นฐานหรือราคาผู้ผลิต)
  6. ตารางที่ 6 อุปทานภายในประเทศไทยโดยรวมและการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวภายในประเทศทั้งหมด (ณ ราคาผู้บริโภค)

วิธีการรวบรวมข้อมูล:

ในส่วนของการรวบรวมข้อมูล TSA ทั้ง 6 ตารางนั้น สามารถใช้ข้อมูลที่ทางสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการเชื่อมโยงกับตาราง SEEA ทั้ง 4 บัญชีได้โดยตรง แต่เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานใดจัดทำตาราง SEEA ทั้ง 4 บัญชี ดังนั้นแนวทางการรวบรวมข้อมูลอาจจะต้องพิจารณาเป็นรายการไป เช่น บัญชีทรัพยากรน้ำต้องรวมรวมจากการประปาส่วนภูมิภาค การประปนครหลวง การประปาท้องถิ่น และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล บัญชีพลังงานต้องไปรวบรวมข้อมูลจากกรมธุรกิจพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง เป็นต้น

สถานะและความพร้อมของข้อมูลของประเทศไทย:เอกสารประกอบเพิ่มเติม:

เอกสารอ้างอิง:

[1] United Nations Statistics Division. Tier Classification Sheet (as of 17 April 2020). Updated: 2020 June, 17. Available from: https://unstats.un.org/sdgs/files/Tier%20Classification%20of%20SDG%20 Indicators_17%20April%202020_web.pdf
[2] สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. “รายงานการจัดทำบัญชีประชาชาติด้านการท่องเที่ยวฉบับสมบูรณ์ โครงการจัดทำบัญชีประชาชาติด้านการท่องเที่ยว (Tourism Satellite Account : TSA)”. 2561.
[3] United Nations World Tourism Organization. 2019. “Linking the TSA and the SEEA: A Technical Note”. Available from: https://unstats.un.org/unsd/statcom/50th-session/documents/BG-Item3l-TSA-SEEA-Technical-Note-E.pdf

หน่วยงานรับผิดชอบ:
__  _ _________


ผู้เรียบเรียง:

วันวิศา ฐานังขะโน
วิศวกรอาวุโส
02 564 6500 ต่อ 4856
wanwisat@mtec.or.th