เป้าประสงค์ที่ 12.8:

สร้างหลักประกันว่าประชาชนในทุกแห่งมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องและความตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน
และวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติภายในปี 2573

ตัวชี้วัดที่ 12.8.1.
มีการดำเนินงานเพื่อให้ (๑) การศึกษาเรื่องการเป็นพลเมืองโลก (๒) การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (รวมทั้งการศึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ได้รับการบรรจุไว้ใน (ก) นโยบายการศึกษาของประเทศ (ข) หลักสูตรการศึกษา (ค) การให้ความรู้แก่ครู และ (ง) การประเมินผลนักเรียน/นักศึกษา

 

Tier Classification:                             Tier II Reviewed at Nov./Dec. 2019 WebEx meeting (classified as Tier II)
หน่วยงานที่รับผิดชอบ:                         สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
สถานะข้อมูลของประเทศไทย:               อยู่ในระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูล
ปีที่รายงาน:                                            ปี พ.ศ. 2563

ผลการรายงานตัวชี้วัด:

• จากข้อมูลการดำเนินโครงการสำรวจสถานะของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตั้งแต่การดำเนินการในอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเริ่มต้นจากประเด็นปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งในส่วนของการสร้างความตระหนักในด้านสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชนและเยาวชน การรณรงค์ไม่ทิ้งขยะในที่สาธารณะ การจัดกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมให้กับนักเรียน/นักศึกษา และได้กล่าวถึงข้อมูลในปี 2540 ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ทำแผนปฏิบัติการสิ่งแวดล้อมศึกษาในระดับประเทศ ซึ่งมีนโยบายด้านการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมกับ นักเรียน นักศึกษา และการอบรมครูสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังได้กล่าวถึงข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการ ในปี 2551 ที่ได้พัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีเนื้อหาในด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน นอกจากนี้ ณ ปัจจุบัน หน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงยังได้นําเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับหลักสูตร และการเรียนการสอนในทุกระดับการศึกษาอีกด้วย ทั้งในรูปแบบโครงการ กิจกรรม ไปจนถึงการจัดทําหลักสูตรระดับปริญญาโดยมีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐานคิดสําคัญ การดําเนินงานของหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการในเรื่องนี้ยังคงมีความต่อเนื่องมาเป็นระยะ ดังจะเห็นได้จากโครงการล่าสุด คือ โครงการวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมศึกษาอย่างยั่งยืนสู่สากลโดยสํานักพัฒนา นวัตกรรมการจัดการศึกษา สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ

จากข้อมูลที่ระบุในเอกสารประกอบการบรรยายในที่ประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นของบริบท ประเด็นสำคัญ และการขับเคลื่อนเป้าหมายด้านการศึกษา ได้กล่าวถึงนโยบายด้านการศึกษาของประเทศได้มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะและคุณลักษณะที่จำเป้นในศตวรรษที่ 21 และมีคุณลักษณะพื้นฐานของพลเมืองไทยและพลเมืองโลก ซึ่งการจัดการศึกษาได้สอดแทรกสาระเนื้อหาในประเด็นที่เกี่ยวข้องไว้ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาทิ การสร้างจิตสำนึกด้านการบริหารจัดการขยะ น้ำเสีย พลังงาน และความหลากหลายทางชีวภาพ โดยหน่วยงานรับผิดชอบได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

• ข้อมูลที่ระบุในแผนที่นำทาง การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 แสดงรายละเอียดในเป้าประสงค์ที่ 4.7 สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึงการศึกษาสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความนิยมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและในส่วนร่วมของวัฒนธรรมต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับเป้าประสงค์ที่ 12.8 โดยได้ระบุถึงสถานภาพของเป้าประสงค์ว่าเป็นการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งสู้เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนภายหลังปี 2015 (Sustainable Development Goals: SDGs) การจัดการศึกษาของประเทศไทย ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรมาประยุกต์ใช้ในการศึกษา โดยสนับสนุนให้สถานศึกษาระดับชั้นพื้นฐานเข้าร่วมโครงการสถานศึกษาพอเพียง มีหลักสูตร/แผนการเรียนรู้ กระบวนการเรียนการสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนตระหนักถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล ครูเป็นผู้แนะนำการเรียนรู้และสามารถกระตุ้นให้นักเรียนรู้จักการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ตัดสินใจตามหลักเหตุผล รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งมีการบริหารจัดการแบบพอเพียง ประสานสัมพันธ์กับชุมชน ให้มีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ นอกจากนี้ ยังได้ยกระดับสถานศึกษาพอเพียง เป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยผ่านกระบวนการติดตามและประเมินผลตามเกณฑ์ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการการจัดตั้งศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) ที่ประเทศไทยเพื่เป็นศูนย์ระดับภูมิภาคที่เป็นเลิศด้านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยเป็นคลังความรู้และศูนย์กลางด้านข้อมูลรวมทั้งเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัยแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้เกิดการบูรณาการและการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดประโยชน์ในบริบทของประเทศในภูมิภาคตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระดับภูมิภาคและต่อยอดขยายผลสู่ระดับสากล เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

เอกสารประกอบเพิ่มเติม:

SDG Indicators Metadata repository. Link to https://unstats.un.org/sdgs/metadata/

เอกสารอ้างอิง:

[1] สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (2561) การติดตามและรายงานผลการดำเนินงาน SDGs ปี 2560 การประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 1/2560
[2] สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (2561) สรุปรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2560 (กรกฎาคม – ธันวาคม 2560) และในปี 2561 (มกราคม – มิถุนายน 2561)
[3] สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (2560) บริบท ประเด็นสำคัญ และการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
[4] สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2560) แผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 12 สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
[5] สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2561) เอกสารประกอบการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 12 สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการบริโภคและผลิตที่ยั่งยืน ครั้งที่ 2/2561
[6] สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (2560) แผนที่นำทางการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
[7] UNSD (2019). Tier Classification for Global SDG Indicators 17 April 2020
[8] UNSD (2019). SDG Indicators, Metadata repository, 11 December 2019
[9] สุพจน์ ชุณหโชติอนันต์ และ ธิตา อ่อนอินทร์ (2560) สำรวจสถานะของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทประเทศไทย และทางเลือกมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ สังคม และกฏหมาย เป้าหมายที่ 12 สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

หน่วยงานรับผิดชอบ:


ผู้เรียบเรียง: _

กิตติพจน์ ดรรชนีกุล
วิศวกร
02 564 6500 ต่อ 4774
kittipod@mtec.or.th