ความเป็นมาของการพัฒนาและการจัดทำฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของไทย
ปัจจุบันปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ทุกประเทศให้ความสนใจและนำมาสู่กฎข้อบังคับต่าง ๆ สำหรับสินค้าที่จะนำเข้าหรือซื้อขายกันในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งการที่ผู้บริโภคบางกลุ่มต้องการสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้ผลิตพยายามที่จะพัฒนากระบวนการผลิต เพื่อให้ได้รับฉลากสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่า การใช้ทรัพยากร การปลดปล่อยมลสารและของเสียออกจากกระบวนการผลิต การใช้งาน และการกำจัดซาก ก่อให้เกิดผลกระทบต่อมนุษย์ และสภาวะแวดล้อมในด้านต่างๆ หากไม่มีการแก้ไข ปรับปรุง จะส่งผลเสียต่อมนุษย์อย่างที่ไม่อาจจะแก้ไขได้ในอนาคต
การจัดทำบัญชีรายการวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Inventory; LCI) ของผลิตภัณฑ์หรือการบริการ ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญที่ช่วยสนับสนุนงานด้านสิ่งแวดล้อมและการค้าของประเทศ ทั้งการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การวางแผนการใช้ทรัพยากร รวมถึงการวางนโยบายของภาครัฐ ด้วยตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว หน่วยงานพันธมิตร อันประกอบด้วย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, กระทรวงอุตสาหกรรม (โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม), สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย จึงร่วมกันดำเนินการจัดทำ “ฐานข้อมูลบัญชีรายการวัฏจักรชีวิตของประเทศไทย” ขึ้น เพื่อให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในการนำไปใช้ประโยชน์ดังกล่าวข้างต้น
การจัดทำ Life Cycle Inventory (LCI) หรือบัญชีรายการวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (หรือการบริการ) เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วยวิธี LCA ซึ่งLCI ที่มีคุณภาพ ถูกต้อง น่าเชื่อถือ และโปร่งใส จะทำให้ผลการประเมินถูกนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ทั้งในการปรับปรุงการผลิต การเลือกห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) การวางแผนการใช้ทรัพยากร การตัดสินใจ การวางนโยบาย รวมถึงการขอฉลากสิ่งแวดล้อม เช่น Carbon Footprint เป็นต้น
การดำเนินงานของการพัฒนาฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของประเทศไทย
จากความสำคัญของ LCI ของวัสดุพื้นฐานและพลังงานดังกล่าว หน่วยงานพันธมิตรทั้ง 5 หน่วยงานข้างต้นจึงได้จัดทำ “ฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของวัสดุพื้นฐานและพลังงานของประเทศ” ขึ้น โดยมุ่งไปที่วัสดุพื้นฐานและพลังงาน 3 กลุ่มใหญ่ ดังนี้
- กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากโรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า น้ำประปาและน้ำอุตสาหกรรม การขนส่งโดยรถบรรทุก
- กลุ่มวัสดุพื้นฐาน (Basic Materials) แบ่งย่อยออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
- วัสดุจากอุตสาหกรรม ได้แก่ สิ่งทอ เยื่อและกระดาษ เม็ดพลาสติก
- วัสดุจากเกษตรกรรม ได้แก่ ยางธรรมชาติ ปาล์มน้ำมัน พืชผักผลไม้ และปศุสัตว์
- วัสดุก่อสร้าง ได้แก่ กระจก ไม้ยางพารา
- กลุ่มการรีไซเคิลและการจัดการซาก (Recycle and Waste Management) ได้แก่ การรีไซเคิล การเผา การฝังกลบ การย่อยสลายโดยไม่ใช้ออกซิเจน
คณะทำงานของการจัดทำฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิต
1. คณะทำงานดูแลฐานข้อมูลกลาง (Commissioner) ปัจจุบัน คือ สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมคุณภาพ ดูแล รักษา และเผยแพร่ฐานข้อมูล รวมถึงให้คำปรึกษาในการจัดทำฐานข้อมูล และรับผิดชอบภาพรวมของการพัฒนาฐานข้อมูลให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
2. คณะทำงานเก็บข้อมูลบัญชีรายการสิ่งแวดล้อม (Practitioner) ได้แก่ กลุ่มบุคคลหรือหน่วยงานต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีหน้าที่ในการติดต่อกับภาคอุตสาหกรรมหรือเกษตรกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอข้อมูล วิเคราะห์ความถูกต้อง และความน่าเชื่อถือของข้อมูลนั้นๆ รวมทั้งจัดส่งข้อมูลให้กับคณะทำงานดูแลฐานข้อมูลกลาง
3. คณะทำงานบริหาร (Steering Committee) มีหน้าที่ในการกำกับดูแลการพัฒนาฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน ตลอดจนติดตามความคืบหน้า และสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ
4. คณะทำงานด้านเทคนิค (Technical Committee) มีหน้าที่ดูแลภาพรวมของการดำเนินงานด้านเทคนิคให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ตลอดจนกำหนดวิธีการติดตามความก้าวหน้า และให้คำแนะนำ วิธีการ หรือแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น
ในการทำ National LCI ของผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่ง ผู้เก็บข้อมูล (Practitioner) จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์เป้าหมายและหลักการ LCA เมื่อ Practitioner ได้ตั้งเป้าหมายและขอบเขตของการเก็บข้อมูลแล้ว จึงทำแบบสอบถามเพื่อใช้ในการสัมภาษณ์หรือเพื่อให้ผู้ประกอบการกรอกข้อมูลตามความเป็นจริง เมื่อ Practitioner ได้รับข้อมูลจากผู้ประกอบการทุกแห่งตามขอบเขตที่กำหนดไว้แล้ว จากนั้นจึงทำการแปลงข้อมูลให้เป็น LCI เฉลี่ยที่เป็นตัวแทนของประเทศแล้วส่งกลับมายังสถาบันฯ ซึ่งเป็นผู้ดูแลฐานข้อมูลกลาง ผู้เก็บข้อมูลควรตั้งคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งด้าน LCA และสาขาที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์เป้าหมาย เพื่อให้คำแนะนำด้านการวางขอบเขตการทำแบบสอบถาม และให้ความเห็นกับผล LCI ที่ได้ หากคณะกรรมการเห็นควรให้ปรับปรุงแก้ไข ผู้เก็บข้อมูลควรดำเนินการแก้ไข ทั้งนี้เพื่อให้การทำ National LCI เป็นไปตามข้อกำหนดใน ISO 14040 และ ISO 14044 คือ วิธีการเก็บข้อมูลถูกต้อง ข้อมูลมีคุณภาพ และโปร่งใส รวมถึงตอบวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ:
จิตติ มังคละศิริ
นักวิจัยอาวุโส
02 564 6500 ต่อ 4063
jitti.mungkalasiri@nstda.or.th